“อย่าทำอะไรที่มันเสียเวลาเลย เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า” นี่เป็นคำพูดของอาจารย์ที่ปรึกษาของเราท่านหนึ่ง เมื่อเอ๋ยถึงคลาส EETP08 ตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ ขอบอกว่าไม่มีคำว่าเสียใจ ไม่มีคำว่าเสียดาย มีแต่ความประทับใจและความน่าชื่นชมยินดี
การเดินทางของเรามีผู้เข้าร่วมเดินทางที่หลากหลาย อาจจะเป็นคนแปลกๆ ในสายตาของบุคคลภายนอก ส่วนใหญ่เรารู้จักกันมาบ้างในการเดินทาง NREM07 ที่ผ่านมา มีน้องใหม่สามคน ที่เข้าร่วมการเดินทางครั้งนี้ ด้วยหน้าตา สายตา ที่ค่อนข้างงุนงง สงสัย ในกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ของเรา ตั้งแต่การถามคำถามที่ยากต่อการตอบ เช่น “โลกร้อนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างไรกับตัวเราบ้าง” “จงเลือกคำต่อไปนี้ที่คิดว่าตรงกับความรู้สึกของเรา” กระบวนการต่อมาคือ การนั่งล้อมวงพูดคุยกันโดยไม่มีใครเป็นผู้นำ ทุกคนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนเอง มีความรับผิดชอบดูแลตนเองและกลุ่ม มีการรักษาคำพูดของตนเอง และหมั่นฝึกฝนสร้างปัจจัยการรู้ตัวอยู่เสมอ ทุกคนเคารพในการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
โดยวิชานี้มีเป้าหมายคือ “เข้าใจตัวเองและโลก ผ่านการน้อมเอาวิชา เข้ามาสู่ใจและชีวิต”จากความแตกต่างของแต่ละคน ความคิดที่แตกต่างกัน แต่ความเป็นตัวของตัวเองในแต่ละคนเป็นการเติมเต็มความเป็น EETP08 ที่สมบูรณ์ สดใส สว่างสว่าง ใสใส ได้อย่างน่าประทับใจ
การนั่งล้อมวงสนทนา ที่เราเข้าใจกันว่า “สุนทรียสนทนา” ก่อให้เกิดการเรียนรู้จากการเคารพซึ่งกันและกัน จากการห้อยแขวน การมีบทสนทนากับตนเองและคนร่วมเดินทาง การรับฟังอย่างตั้งใจ ฝึกฝนให้มีการเผชิญหน้ากับความกลัว ออกจากพื้นที่ที่ปลอดภัยของตัวเอง การดูแลการเรียนรู้ซึ่งกันและกันเป็นกิจกรรมที่น่าประทับใจ และเอื้อต่อการเรียนรู้ของพวกเราชาว EETP08 ทุกคน
การเรียนรู้ของเราไม่อยู่แต่เพียงวงสุนทรียสนทนาเท่านั้น ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนสี่เหลี่ยมแคบๆ พวกเรายังได้มีการร่วมเดินทางไปในหลากหลายสถานที่ สถานที่แรกคือ บ้าน AM (บ้านคุณแม่อมราที่รักของพวกเราทุกคน) ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากกิจกรรมต่างๆ ในบ้าน AM พวกเราหลายคนค้นพบความจริงของตนเอง ความเป็นตัวตนของตนเอง ผ่านการเรียนรู้ตนเองโดยมีคุณแม่อมรา เป็นผู้คอยชี้แนะ แนะนำ ให้เราเกิดการเรียนรู้ คำพูดที่พูดถึงเมื่อไหร่จะเป็นที่เข้าใจกันเป็นอย่างดี “ใจเป็นอย่างไร รู้ไปอย่างนั้น” กิจกรรมการเดินโดยปราศจากการพูดคุย เป็นการเปิดโอกาสให้ประสาทสัมผัสทั้งห้าได้มีโอกาสเปิดรับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบข้างได้อย่างเต็มที่ กิจกรรมต่างๆ ที่เราได้ร่วมทำกันในบ้าน AM นับได้ว่าเป็นการเปิดประตู เปิดใจตนเอง ให้มีพื้นที่มากขึ้น
บ้านขุนสมุทรจีน จังหวัดสมุทรปราการ เป็นอีกสถานที่หนึ่ง ซึ่งทำให้เห็นได้ชัดเจนในเรื่องของการดูแลการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เป็นการตอกย้ำความเป็น EETP ไ้ด้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น สะพานสะพรั่นสะพรึง หรือที่พวกเราเรียกกันว่า “สะพานพี่หนุ่ม” อย่างติดปาก หากจะพูดกันง่ายๆ ก็จะคล้ายคลึงกับด่านมนุษย์ทองคำในวัดเส้าหลินอย่างไงอย่างงั้น ในสะพานแต่ละสะพาน ทำให้การเดินทางของเราเต็มเปี่ยมไปด้วยการรู้จักและสัมผัสกับความกลัว เรียนรู้อยู่กับใจของเรา เสมือนเป็นการตอกย้ำคำพูดที่ว่า “ใจเป็นอย่างไร รู้ไปอย่างนั้น” อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น บ้านขุนสมุทรจีน เป็นการเปิดโอกาสให้เราเรียนรู้ EETP ร่วมกัน จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ เราได้เห็นการปฏิบัติที่ชัดเจนของชาวบ้านอันเป็นสิ่งเด่นของการเดินทางครั้งนี้ การปฏิบัติโดยชุมชน ในชุมชน เกี่ยวกับชุมชน และเพื่อชุมชน คุณป้าสมรที่น่ารัก อาหารกลางวันที่ไม่หรูเลิศ แต่เรากินกันอย่างสุนทรีย์ กอร์ปกับการร่วมวงรับประทานพร้อมกับบุคคลที่เราปรารถนาดี ชื่นชมยินดี ทำให้อาหารกลางวันมื้อนั้นเป็นมื้อที่วิเศษสุดของพวกเรา EETP08 บนรถเราได้มีบทสนทนาที่วิเศษอีกบทหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นโมเมนต์ที่ประทับอยู่ในใจของพวกเราหลายหลายคน
ช่วงหลังของการเดินทางของพวกเราชาว EETP08 แต่ละคนได้มีโอกาสในการทำโครงการส่วนตัว (Individual Project) ที่มีความหลากหลาย เช่น นกเงือกถือถุงผ้า การเดินทางของหนุ่มน้อย (เดวิดคอปเปอร์ฟิลด์โปรเจค) สวนลุงโชค เพลงนำพา EETP คอสตูมเพลย์อิ้ง แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ทุกคนเก็บเกี่ยวได้ระหว่างการเดินทางในครั้งนี้
สิ่งที่น่าประทับใจในการเดินทางครั้งนี้คือ การประเมิน พวกเราได้มีการก้าวข้ามผ่านกฏเกณฑ์การประเมินแบบเก่าๆ แบบที่ทำตามตามกันมา การประเมินของเราเป็นการประเมินที่มีการพูดคุย แสดงความคิดเห็น อธิบายเหตุผลในการจรดปลายปากกาให้คะแนน มีการแบ่งปันความปรารถนาดี การตกลงกฏเกณฑ์และคะแนนของแต่ละคนจากกลุ่ม โดยไม่อาศัยพวกมากลากไป การเดินทางในช่วงนี้ ทำให้เรียนรู้เรื่องของความกล้าในการให้คะแนนกับคนที่เรารักด้วยคะแนนที่น้อยมาก มีการออกจากพื้นที่ปลอดภัยไปยังพื้นที่เสี่ยง เพื่อขยายพื้นที่ปลอดภัยให้กว้างขวางขึ้น
จากการเดินทางของเราในหนึ่งภาคการศึกษา ทำให้เรามีครอบครัวใหม่ ครอบครัว EETP08 อีกทั้งมีการเชื่อมโยง EE (Environmental Education) + T (Theory) + P (Practice) ได้อย่างลงตัวเหมาะสม ผ่านการเรียนรู้คู่การเดินทาง นำไปสู่แสงสว่าง สงบสุข ในชีวิต
เวลาในที่ใช้ในการเดินทางในช่วงหนึ่งของชีวิต เป็นกำไรชีวิตที่หาไม่ได้อีกในสภาวะการณ์ไหนไหน เป็นห้วงเวลาของการเรียนรู้ การตัดสินใจ การอยู่ร่วมกันและการเคารพดูแลซึ่งกันและกัน อันจะเป็นจุดกำเนิดของการทำให้สังคมมีความสุข สงบมากกว่าที่เป็นอยู่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น