วันอังคารที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ความสำคัญของการรักษาคำพูด

"หนึ่งในคุณสมบัติของผู้ที่ประสบความสำเร็จต้อง รักษาคำพูด รักษาสัญญา"
คำมั่นสัญญาเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนเราประสบความสำเร็จ การไม่รักษาคำพูดอาจทำให้เสียมิตรที่กลายไปเป็นศัตรู นโปเลียน โบนาปาร์ต เคยกล่าวไว้ว่า “หนทางที่ดีที่สุดที่จะรักษาคำพูด ก็คือ อย่าพูดให้สัญญากับใคร” ดูเหมือนจะเป็นเรื่องจริง หากเราลองได้พิจารณาคำพูดนี้อย่างลึกซึ้ง
ความรู้สึกของตัวเองนั้น เห็นด้วยกับคำพูดที่ว่า "การรักษาสัญญาหรือคำพูดเป็นนิสัยที่ควรฝึกฝนให้ติดตัว เพราะเป็นลักษณะที่บ่งบอกถึงความสำเร็จที่มั่นคงในชีวิตได้" หากเราต้องติดต่อกับใครแล้วอยากให้เขาเชื่อใจ ไว้ใจอยากทำงาน อยากให้เค้ามีความรู้สึกดีดีให้ เราต้องรักษาสัญญา รักษาคำพูด
ความบาดหมาง ความขัดแย้งบางอย่างเกิดขึ้นไม่ว่าจะในครอบครัว หรือในช่วงชีวิตประจำวัน อาจมีที่มาจากเรื่องของการไม่รักษาคำพูดก็ได้ เช่น สามีรับปากอาสาว่าจะหาซื้อของมาให้ภรรยา ทำให้ภรรยาคาดหวัง ณ ขณะนั้นและเต็มไปด้วยความปลื้มปีติ ที่สามีรับอาสาจะซื้อของที่เธอกำลังอยากได้มาให้ แต่แล้วผ่านไปนับเดือน ภรรยาก็ยังไม่ได้รับของจากสามีเลย ซ้ำเมื่อทวงถามก็ได้รับคำตอบว่ายังไม่ว่าง ทำให้ภรรยาเกิดอาการน้อยอก น้อยใจ ที่สามีไม่รักษาคำพูดและดูเหมือนว่าจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเธอเลย ไม่เว้นแม้แต่พ่อแม่ที่รับปากลูกว่าจะให้โน่น ให้นี่ ถ้าลูกเรียนเก่ง สอบได้ที่หนึ่ง หรือเมื่อลูกทำตามที่พ่อแม่ต้องการ แต่พอถึงเวลากลับเมินเฉยไม่พูดถึง เมื่อเกิดขึ้นบ่อยๆ จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นคนที่ไม่ไว้วางใจใคร หรืออาจเป็นคนที่ไม่น่าไว้ใจ เชื่อใจ เพราะคิดว่าการพูดปดเป็นเรื่องปกติที่เคยเห็นพ่อแม่ทำกับตน
หลักการง่ายๆ ของการรักษาคำพูด ก็คือ
- คิดไตร่ตรองก่อนว่าสามารถทำได้จึงรับปากหรือให้สัญญา ต้องรอบคอบ และไม่รับปากไปด้วยความเกรงใจ
- คำนึงถึงจิตใจของคนที่เราพูดด้วย ต้องรักษามิตรภาพ และความสัมพันธ์ด้วยการรักษาสัญญา
- ให้คุณค่าในการระวังรักษาคำพูด คิดก่อนพูด วางแผนก่อนทำ ต้องมั่นใจว่าทำได้
- พยายามรักษาคำพูดอย่างสุดความสามารถ พูดจริง ทำจริงอย่างที่พูด โดยฉพาะคนที่เป็นผู้นำที่อยากให้คนเชื่อถือ
- หากเรารักษาคำพูดไม่ได้ ต้องยอมรับผิด และกล้ารับความจริง ไม่ควรปกป้องตัวเอง หรือหาข้อแก้ตัวให้พ้นผิดอย่างน้ำขุ่นๆ
จะเห็นได้ว่า เรื่องง่ายๆ ธรรมดาที่เราท่านอาจมองข้ามไป ลองดูสิคะว่าตัวอย่างรอบตัวที่เราเห็น เวลาคนอื่นไม่รักษาคำพูดหรือสัญญาที่ให้ไว้กับเรา เรารู้สึกอย่างไร ดังนั้นต่อไปเราก็ควรระมัด ระวังในเรื่องนี้มากขึ้น แม้แต่เวลานัดกับใคร ถ้าเราเป็นคนตรงต่อเวลาสม่ำเสมอ คนที่นัดหมายกับเราเขาย่อมเกรงใจ แล้วต้องมาตามนัดด้วยเช่นกัน เวลาอยู่ในที่ทำงานถ้าเราต้องทำงาน ประสานงานกับคนอื่น รับปากที่จะส่งมอบงานให้เขาวันใด ก็ต้องไม่ผิดคำพูด จึงจะทำให้เขาเชื่อถือไว้วางใจได้ โดยเฉพาะถ้าคนคนนั้นคือเจ้านายของเราเอง

2 ความคิดเห็น:

phuso กล่าวว่า...

ใช่ ครับ ผมเห็นด้วยกับบทความนี้

Jeew กล่าวว่า...

ค่ะ

หนูจะพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่ค่ะ

ขอโทดนะคะอาจารย์