วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2553

ดิ้นสู้ภัยไซเบอร์ มะกันพร้อมเจรจารัสเซีย

รัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจร่วมการเจรจากับรัสเซียบนเวทีสหประชาชาติหรือ United Nations แล้ว เพื่อหาวิธีป้องกันและปราบปรามสงครามไซเบอร์และอาชญากรรมบนโลกอินเทอร์เน็ต ถือเป็นนิมิตหมายใหม่หลังจากที่สหรัฐฯไม่เคยร่วมเจรจากับยูเอ็นและประเทศสมาชิกอื่นๆเลย ท่ามกลางข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนใจของสหรัฐฯเกิดขึ้นเพราะเจ้าพ่อชาติอินทรีต้องหาทางดิ้นเพื่อสู้กับวิกฤตเว็บไซต์อเมริกันตกเป็นเป้าโจมตีถี่เหลือเกิน
สิ่งที่ทำให้ข้อสังเกตนี้เกิดขึ้นคือ รายงานจากนิวยอร์กไทมส์ที่ระบุว่าตัวแทนสหรัฐฯ จะเข้าร่วมเจรจากับตัวแทนจากรัสเซียและคณะกรรมาธิการควบคุมอาวุธแห่งสหประชาชาติ หรือ Arms Control Committee โดยประเด็นที่สหรัฐฯ ต้องการหารือคือการลดปริมาณอาชญากรรมไซเบอร์และจำกัดการใช้อำนาจทางการทหารบนโลกอินเทอร์เน็ต ต่างจากรัสเซียและประเทศอื่นๆต้องการหารือในประเด็นการป้องกันการประสานงานเพื่อก่อการร้ายผ่านโลกออนไลน์
นักวิเคราะห์จึงมองกันว่า ความต้องการลดปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ของสหรัฐฯ นั้นมีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยของสถาบันการเงิน ภาคธุรกิจต่างๆ และสำนักงานรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมา องค์กรเหล่านี้ของสหรัฐฯตกเป็นเป้าหมาย และถูกคุกคามจากนักเจาะระบบต่างชาติอย่างหนัก เฉพาะวันที่ 4 กรกฎาคม เว็บไซต์องค์กรของสหรัฐฯ มากกว่า 20 แห่งถูกจู่โจมเพียงเพราะต้องการกลั่นแกล้งในโอกาสวันชาติสหรัฐฯ มีทั้งการถล่มเว็บไซต์ให้ไม่สามารถใช้การได้ชั่วขณะ และการเจาะระบบข้อมูลเพื่อขโมยความลับขององค์กร
แม้จะไม่มีการยืนยันอย่างชัดเจน แต่ทุกคนในโลกไซเบอร์นั้นรู้กันว่ารัสเซียเป็นแหล่งกบดานสำคัญของโจรไฮเทคระดับพระกาฬที่มองสหรัฐฯเป็นเป้าหมายใหญ่ในการโจมตี การตกลงร่วมเจรจาระหว่างรัสเซียและสหรัฐฯ จึงถูกจับตามองมากเป็นพิเศษ แม้ว่าประเด็นความต้องการของแต่ละประเทศจะไม่ตรงกันก็ตาม
ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความปลอดภัยมองว่า รัสเซียนั้นหวังให้การเจรจาครั้งนี้นำไปสู่การเพิ่มศักยภาพให้รัฐบาลรัฐเซียสามารถปราบปรามการประสานงานเพื่อก่อการร้ายในประเทศรัสเซียได้ สวนทางกับสหรัฐฯ ที่ต้องการให้นานาชาติ ร่วมมือกับทางการสหรัฐฯเพื่อการสอบสวนและขัดขวางการก่ออาชญากรรมบนโลกไซเบอร์
การโจรกรรมข้อมูลของโจรไฮเทคนับวันยิ่งเพิ่มจำนวนและเป็นสาเหตุนำไปสู่การสูญเสียมากมาย การสำรวจในปี 2008 ศูนย์ร้องเรียนอาชญากรรมอินเทอร์เน็ตของสหรัฐฯ หรือ Internet Crime Complaint Center (IC3) ได้รับเรื่องร้องเรียนราว 275,234 กรณี เพิ่มขึ้น 33.1% จากปี 2007 โดยค่าเสียหายจากการถูกโจมตีและขโมยข้อมูลนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 264.6 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นจาก 239.1 ล้านเหรียญในปี 2007
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการรายงานวันที่และเวลาในการร่วมเจรจาของสหรัฐฯ บนเวทีสหประชาชาติในขณะนี้

ที่มา: http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9520000153562

ไม่มีความคิดเห็น: